วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

แนวทางการบริหารจัดการโรงแรมในภาวะที่เกิดโรคติดต่ออันตราย COVID-19


หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขมีมติเอกฉันท์ประกาศให้ COVID-19 หรือโคโรน่าไวรัสเป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ลำดับที่ 14 ทำให้โรงแรมและสถานประกอบกิจการบริการอื่นๆ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวโดยตรงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหามาตรการในการป้องกันและบริหารจัดการในห้วงเวลาที่ COVID-19 ได้กลายเป็นโรคติดต่ออันตรายเรียบร้อยแล้วสำหรับวันนี้ Page Hotel Man มีแนวทางในการปฏิบัติและบริหารงานในช่วงวิกฤติจากสถานการณ์โรคระบาดมาแนะนำเพื่อเป็นแนวทางและนำไปปรับใช้กันครับ
1. การกำหนดมาตรการป้องกันนี้จำเป็นที่จะต้องวางแผนตั้งแต่ขั้นตอนการเฝ้าระวัง การสังเกตการณ์และการบริหารจัดการเมื่อเกิดเหตุ กรณีนี้ฝ่ายบริหารที่เป็นผู้กำหนดนโยบายกับพนักงานผู้ปฏิบัติงานต้องทำงานร่วมกันและสรุปเนื้อหาแนวทางปฏิบัติพร้อมกำหนดขอบเขตรายละเอียดให้ชัดเจนว่าช่วงไหนและวิธีการไหนเป็นช่วงการเฝ้าระวัง ช่วงไหนเป็นสังเกตการณ์และช่วงไหนเป็นการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุและในแต่ละขั้นตอนมีวิธีการปฏิบัติอย่างไรอาจเขียนขึ้นมาเป็น SOP (Standard Operation Procedure) เอาไว้เลยก็ได้เพื่อนำไปใช้ในอนาคต
2. อาจกำหนดคณะทำงานเฉพาะของโรงแรมขึ้นมาโดย Assign แผนกที่เกี่ยวข้องเป็นทีมเฉพาะกิจเพื่อคอยติดตามและประเมินผลสถานการณ์นี้โดยรวม (คล้ายกับทีมผจญเพลิงในโรงแรม) ซึ่งจะทำให้การติดตามสถานการร์มีความชัดเจนมากขึ้นโดยทีมนี้ต้องคอย Update รวมทั้งประเมินสถานการณ์จากข้อมูลทั้งภายในโรงแรมและภายนอกรวมทั้งติดตามและสังเกตอาการแขกและพนักงานที่เข้าข่ายเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเริ่มป่วย
ตลอดจนติดต่อและขอคำปรึกษาจากหน่วยงานสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง
3. ตรวจสอบแขกผู้เข้าพักที่มาจากประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อซึ่งกรณีนี้แม้ทางราชการจะมีการคัดกรองแล้วแต่ก็เป็นไปได้ที่อาจหลุดรอดโดยการตรวจเช็คหรือแขกเจตนาไม่บอกอาจใช้การสอบถามโดยตรงตั้งแต่ตอน Check In หรือหากกลัวแขกไม่พอใจก็อาจใช้การสังเกต Passport แขกที่มีตราประทับในแล่มดูก็ได้ว่าแขกไปประเทศใดมาบ้างแล้วนอกจากนี้ควรแจ้งแขกให้ทราบว่าหากแขกรู้สึกไม่สบายหรือมีอาการป่วยที่เข้าข่ายให้ติดต่อโรงแรมทันทีโดยควรให้เหตุผลว่าที่เราต้องทำแบบนี้เนื่องด้วยเหตุใด? การปิดบังแขกโดยไม่แจ้งสถานการณ์บางคนอาจมองว่า "ไม่แจ้งเพราะจะทำให้แขกแตกตื่นทำให้แขกกลัวหรือไม่พอใจ" แต่ถ้าลองคิดอีกมุมการไม่บอกความจริงก็อาจทำให้แขกคนอื่นๆ อาจตกอยู่ในภาวะที่เสี่ยงและบางคนเสี่ยงถึงชีวิตได้เช่นกันถึงตอนนั้นถ้าต้องมานั่งแก้ปัญหาเมื่อเหตุเกิดแล้วมันอาจไม่ทันต่อเวลาและความสูญเสียอาจมากจนเราไม่สามารถชดเชยอะไรให้แขกเลยก็ได้
4. การปล่อยให้แขกหรือพนักงานที่มีอาการป่วยที่น่าสงสัยทำงานและใช้บริการโรงแรมได้ตามปกติโดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้องอาหาร สระว่ายน้ำ Lobby ฯลฯ โดยโรงแรมไม่จัดการแนะนำให้ไปพบแพทย์หรือสอบถามรายละเอียดการป่วยเพื่อนำไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคเพราะกลัวแขกไม่พอใจโรงแรมต้องคิดเสมอว่ากำลังทำให้แขกอื่นเสี่ยงไปด้วยที่อาจต้องติดเชื้อโดยไม่รู้เรื่องถ้ากังวลเรื่องการไปสอบถามอาการจากแขกที่ต้องสงสัยจะทำให้่แขกไม่พอใจก็ควรนึกถึงแขกคนอื่นๆ ที่ต้องเสี่ยงจากการใช้ Facilities ร่วมกับผู้ป่วยต้องสงสัยด้วยเช่นกัน
5. การที่ต้องทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคในการสกัดการแพร่ระบาดทำให้เราต้องแจ้งแขกว่าในบางกรณีหากแขกป่วยและเข้าข่ายต้องสงสัยว่าป่วยจาก COVID-19 เราอาจจำเป็นที่จะต้องให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจเช็คอาการแขกที่โรงแรมซึ่งต้องสร้างความเข้าใจตรงนี้ให้แขกก่อนหากไม่แจ้งอาจทำให้แขกไม่พอใจและเกิดความกังวลได้อย่ากังวลว่าเราแจ้งแขกตั้งแต่ตอน Check In แล้วแขกจะกลัวเพราะด้วยสถานการณ์ปัจจุบันแขกย่อมทราบอยู่แล้วว่า COVID-19 ระบาดในขั้นไหนแขกบางคนก็เข้าใจแต่บางคนก็อาจไม่เข้าใจซึ่งเราก็ต้องหาวิธีอธิบายให้แขกเข้าใจได้มากที่สุดเพราะทุกอย่างก็เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของแขกเอง
6. จัดเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ทำความสะอาดเพื่อป้องกันโรคให้พอเพียง เช่น เจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ ผ้าปิดปาก ปรอทวัดไข้ เป็นต้น และอาจกำหนดพื้นที่กักกันโรคไว้ในโรงแรมบางส่วนด้วยก็ได้ในกรณีที่หากพบแขกป่วยและต้องรอเจ้าหน้าที่มารับ
7. ในขั้นตอนการทำความเข้าใจกับมาตรการจัดการผู้ป่วยที่เข้าข่ายเสี่ยงว่าเป็นผู้ติดเชื้อจาก COVID-19 ให้เน้นย้ำไปในจุดที่ต้องทำให้แขกเข้าใจว่า "เราทำเพื่อความปลอดภัยของแขก" โดยอาจต้องแจ้งแขกว่า "หากแขกมีอาการที่เข้าข่ายเกี่ยวข้องกับ COVID-19" ให้รีบแจ้งทางโรงแรมทันทีเพื่อทางโรงแรมจะได้ติดต่อให้ทางราชการมารับตัวแขกไปตรวจรักษาอย่างละเอียดอย่ากลัวว่าแขกจะมองว่า "เรารังเกียจและกล่าวหาว่าแขกเป็นโรคระบาด" ถ้าเลือกที่จะไม่แจ้งไม่ Inform เพื่อทำให้แขกพอใจก็ต้องคำนึงถึงโทษที่จะได้รับตามกฏหมายด้วยเพราะหากปล่อยให้แขกที่
มีอาการเสี่ยงว่าจะติดเชื้อและมีอาการต้องสงสัยยังปฏิบัติตนได้ตามปกติในพื้นที่สาธารณะของโรงแรมอาจเพิ่มโอกาสการติดเชื้อให้แขกและพนักงานคนอื่นๆ และเมื่อใดก็ตามที่ พ.ร.บ. โรคติดต่อประกาศใช้ในราชกิจานุเบกษาแล้วโทษที่เกี่ยวข้องกับแขกและโรงแรมคือ
- กรณีพบว่าตัวเองป่วยและเข้าข่ายต้องสงสัยแล้วไม่แจ้งให้หน่วยงานราชการทราบมีโทษปรับ 2 หมื่นบาท
- กรณีเจ้าของสถานประกอบการปกปิดข้อมูลไม่ทำตามคำสั่งมีโทษจำคุก 2 ปีปรับ 5 แสนบาท
8. กรณีที่แขกหรือพนักงานสงสัยว่าตนเองป่วยจากการได้รับเชื้อ COVID-19 ให้รีบแจ้งสายด่วน 1422 ทันที (แจ้งได้ทั่วประเทศฟรี) จากนั้นเจ้าหน้าที่จะประสานผู้เกี่ยวข้องจัดทีมควบคุมโรคมารับตัวไปรักษาต่อ
9. หากแขกหรือพนักงานแจ้งอาการป่วยด้วยตนเองและสงสัยว่าจะติดเชื้อ COVID-19 ควรจำกัดพื้นที่เฉพาะให้แขกก่อนที่เจ้าหน้าที่จะมารับตัวไปตรวจรักษาและหลังจากที่แขกออกจากสถานที่เฉพาะแล้วควรมีมาตรการในการทำความสะอาดพื้นที่นั้นในลักษณะ Deep Clean หรือขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคด้วยก็ได้
8. การปล่อยให้แขกหรือพนักงานที่ป่วยหรือต้องสงสัยว่าจะป่วยจาก COVID-19 ปฏิบัติตนในทางที่สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้แขกคนอื่นๆ และพนักงานติดเชื้อกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือผู้ป่วยกลายเป็น Super Spreader คือกลุ่มที่สามารถแพร่เชื้อได้มากว่าค่าเฉลี่ยที่ 10-20 คนอาจทำให้โรงแรมถูกสั่งปิดกิจการได้เพราะตามสาระสำคัญใน พ.ร.บ. โรคติดต่ออันตรายระบุไว้ว่า "กรณีเร่งด่วนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานครมีอำนาจสั่งผิดสถานประกอบการได้เป็นการชั่วคราวและให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรหยุดประกอบอาชีพ" ซึ่งอาจจะทำให้ความเสียหายขยายวงกว้างขึ้นไปอีกและโรงแรมจะกลายเป็นสถานที่แพร่ระบาดส่งผลต่อความเชื่อมั่นของโรงแรม
9. หมั่นสังเกตอาการแขกและพนักงานของโรงแรมและคอยติดตามอาการแขกและพนักงานที่เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อกรณีที่พบพนักงานป่วยและเข้าข่ายเฝ้าระวังควรแจ้งหน่วยงานรัฐและให้หยุดปฏิบัติงานทันที
แม้จะดูเหมือนหลายๆ อย่างยังซ้ำเติมอุตสาหกรรมโรมแรมและการท่องเที่ยวแต่เชื่อว่าด้วยความร่วมมือร่วมใจกันการเป็นกำลังใจให้กันในที่สุดแล้วเราจะผ่านมันไปได้เพราะ "ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน" ทุกอย่างล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป COVID-19 เช่นกัน ท้ายที่สุดแล้วสาระสำคัญของ พ.ร.บ. อาจฟังดูรุนแรงแต่เนื่องด้วยโรคนี้เริ่มระบาดในวงกว้างและเข้าใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกวันสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้คือต้องดูแลป้องกันไม่ให้เกิดเหตุและติดต่อประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทันทีที่สงสัยว่ามีผู้ป่วยในสถานประกอบการของเราเพื่อจำกัดไม่ให้เกิดความเสียหายในวงกว้างไปกว่านี้้

วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ตอน ห่อไข่



ตอน ห่อไข่
การที่แขก Complain เกี่ยวกับเรื่องของอาหารมันเป็นเรื่องปกติที่พวกเราชาวโรงแรมเคยเจอกันมาตลอดครั้งหนึ่งเฮียเคยเจอกับการ Complain ที่แขกเอาอยางอื่นมาเปรียบเทียบกับโรงแรมและต้องการเปลี่ยนแปลงบริการของโรงแรมไปเลย (กรุณาใส่อารมณ์การพยายามเปลี่ยนแปลงแบบจริงๆ เหมือนตอนสตีฟ จ็อบส์ Present บนเวทีว่าจะเปลี่ยนโลกเข้าไปด้วยนะเพื่ออรรถรสในการอ่าน)
เรื่องมันเริ่มขึ้นเมื่อมีแขกคนหนึ่งเดินมาที่หน้าล็อบบี้แล้วก็ขอพบผู้จัดการเฮียก็แสดงตัวกล่าวทักทายสวัสดีครับมีอะไรให้รับใช้ครับแขกก็ทักทายกลับมา “สวัสดีค่ะน้องพี่มีเรื่องอยากจะแนะนำหน่อยค่ะ” โดยปกติแล้วในงานบริการการที่มีแขกให้คำแนะนำสำหรับการปรับปรุงบริการถือเป็นเรื่องที่ดีเฮียก็รีบแจงแขกกลับไปเลยว่า “ยินดีครับรอสักครู่นะครับ” แล้วก็หยิบปากกากับกระดาษมาเตรียมจดแขกก็เริ่มบอกเฮียว่า “เมื่อวานพี่ไปกินอาหารที่ห้องอาหารของน้องแต่ผัดไทของน้องมันห่อใข่มาซึ่งพี่ว่ามันไม่ถูกต้อง” พอพูดจบตรงนี้เฮียก็เข้าใจได้ว่า..โอเคแขกอาจจะไม่ชอบผัดไทห่อไข่หรือสั่งอาหารแล้วแต่เชฟทำผิดรูปแบบแน่ๆ เพราะไม่น่าจะเป็นไปได้ที่แขกจะ complain โดยเปรียบเทียบกับผัดไทที่อื่นที่เคยกินมา (อาจมีบ้างที่เปรียบเทียบกับที่อื่นแต่ต่อหน้าพนักงานส่วนใหญ่จะไม่ค่อยพูดเพราะรักษาน้ำใจกัน) แต่เรื่องมันดันไม่เป็นแบบที่เฮียคิดสักพักก็พูดขึ้นมาว่า “พี่ไปทานผัดไทยที่ร้าน....(เราไม่เอ่ยชื่อแล้วกัน) ที่ร้านนั้นผัดไทของเค้าไม่ได้ห่อไข่มาเขาทำมาตามปกติซึ่งพี่ว่ามันดูดีกว่าและรสชาติก็ดีกว่าการห่อไข่นะ..พี่อยากให้โรงแรมของน้องเปลี่ยนการเสิร์ฟผัดไทให้ไม่ต้องห่อไข่เหมือนกับเขาดีกว่า”
เฮียก็อึ้งไปพักหนึ่งก่อนตั้งสติและกลับมาอธิบาย “ขออนุญาตแจ้งแบบนี้นะครับคือในแต่ละโรงแรมจะมีสูตรและการตกแต่งอาหารที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเพื่อสร้างความแตกต่างและความประทับใจให้กับแขกของเราครับในกรณีที่ไม่ต้องการให้ห่อไข่แขก เอ้ย!! ขออนุญาตเขียนและเว้นวรรคใหม่เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้นนะครับ :ในกรณีที่แขกไม่ต้องการผัดไทที่ห่อไข่: ก็สามารถแจ้งทางห้องอาหารได้ครับพอเราทำตามความต้องการของแขกผู้เข้าพักเสมอ”

คือเฮียก็เข้าใจได้ว่าแขกบางคนก็ไม่ชอบห่อไข่สำหรับผัดไทแต่แขกบางคนก็ชอบซึ่งงานบริการอย่างเราแขกสามารถเลือกได้อยู่แล้วเพราะตอนสั่งในเมนูส่วนใหญ่มักจะมีรูปแสดงตลอดเพราะเฮียพูดจบแขกก็สวนกลับมาว่า “น้องไม่อยากขายดีเหมือนเขาเหรอ??” เงิบแดกเลยเฮียทีนี้แล้วพี่เขาก็มาต่อดอกสอง “นี่พี่กำลังแนะนำสิ่งที่ดีให้น้องนะน้องไปดูร้านเค้าสิขายดีมากน้องไม่อยากขายดีแบบเค้าเหรอ?? ถ้าอยากขายดีแบบเขาก็ต้องทำแบบเค้าสินี่พี่หวังดีนะ” ความรู้สึกเฮียเหมือนพี่เค้ากำลังจะบอกว่า ให้โรงแรมเลิกทำเมนูแบบที่เป็นผัดไทห่อไข่แล้วไปทำให้เหมือนกับร้านที่พี่เขาบอกซึ่งพี่เค้าก็ไม่ได้สนใจว่าแขกบางคนก็ชอบผัดไทที่ห่อไข่แต่ถ้าเราเจอกรณีนี้เราก็ไม่ควรที่จะไปโต้ตอบอะไรต่อเพราะเดี๋ยวมันจะยาวเฮียก็เลยแจ้งพี่เค้าไปว่า “ขอบคุณมากนะครับยังไงเดี๋ยวจะนำเรื่องให้ฝ่ายบริหารพิจารณาต่อไปครับ” ทำแบบนี้เพื่อให้แขกรู้สึกพอใจที่ชนะเราซึ่งพี่เค้าก็จบเรื่องแล้วจากไปแต่ก่อนจากยังมีทิ้งท้ายไว้ว่ารอบหน้ากลับมาพี่จะรอกินผัดไทสูตรเดียวกับที่ร้านนั้นที่น้องปรับให้เหมือนเขานะเฮียก็ได้แต่ยิ้มแล้วก็ยิ้ม 😁😁😁

วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

จงวิเคราะห์เคสนี้ (ว่าที่กระทู้พลีชีพของเฮียเลย)

จงวิเคราะห์เคสนี้ (ว่าที่กระทู้พลีชีพของเฮียเลย)
"มีแขกหนึ่งคนขอ LCO โรงแรมตอนบ่ายสองโมง" ทางโรงแรมแจ้งว่าห้องเต็มไม่สามารถให้ LCO ได้แขกไม่พอใจและตัดสินใจว่า "จะไม่ใช้บริการโรงแรมนี้เลยตลอดชีวิต" เพราะเมื่อไปทำแบบเดียวกันอีกโรงแรมหนึ่งเขาได้รับการอนุญาตให้ LCO ได้ตามที่ขอ
??คำถาม..ในมุมมองของแขกและพนักงานเราคิดว่าเคสนี้ยุติธรรมสำหรับโรงแรมไหม??? ลองวิเคราะห์แบบถอยตัวเองออกมาจากสถานะพนักงานก่อนแล้วยืนอยู่ตรงกลางมองเข้าไปทั้งสองฝั่งทั้งแขกและพนักงานว่าเราคิดยังไง???


...สำหรับเฮีย..
มองในมุมแขกกรณีที่แขกปกติโรงแรมถ้าแขกขอ LCO ถ้าห้องมีเรามักจะให้แขกอยู่แล้วและแขกบางคนจำเป็นจริงๆ เช่น เกิดการเจ็บป่วยอยากจะพักอีกนิดหน่อยแบบนี้เชื่อว่าพนักงานทุกคนยังไงก็ยินดีให้ LCO อยู่แล้วหรือแม้แต่ขอเฉยๆ เพราะอยากอยู่ต่ออีกสักนิดถ้ามีห้องว่างก็เชื่อว่าหลายๆ คนไม่ปฏิเสธแขกแน่นอนแต่การที่พนักงานบอกว่า "ห้องเต็ม" แล้วไม่ได้ LCO จึงตัดสินโรงแรมเลยว่าไม่ดีและจะไม่ใช้บริการอีกก็ค่อนข้างจะไม่ยุติธรรมสักหน่อยเพราะคิดในมุมแขกอย่างเดียวว่าขอไม่ได้คือ "บริการไม่ดี" ทั้งที่คำว่า "ห้องเต็ม" คือถ้าให้ LCO ไปแล้วแขกใหม่มาจะไปอยู่ที่ไหนสุดท้ายก็ไปกระทบสิทธิคนอื่น..
คิดในมุมพนักงานกรณีขอ LCO เชื่อว่าหลายๆ คนถ้ามีห้องว่างส่วนใหญ่ก็ให้กันอยู่แล้วเพราะเราก็อยากสร้างความประทับใจให้กับแขกการถูกแขกตัดสินจากการ "ไม่ได้ดั่งใจ" ว่าบริการไม่ดีทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ทำดีมาทั้งหมดและเราก็อยากสร้างความประทับใจให้แขกอยู่แล้วหากกรณีที่ห้องเต็มแต่พนักงานยังให้ LCO ปัญหาคือกระทบทุกส่วน (แม้แขกจะอ้างได้ว่าเขาไม่จำเป็นต้องรู้เพราะคิดในมุมแขก) เช่น Front ต้องถอด Block ห้องใหม่ แม่บ้านต้อง Stand by รอทำห้องนี้อีกครั้งโดยที่มีแขกใหม่มารอเร่งอยู่แต่ก็เข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องของแขกที่ต้องรู้และอยู่ที่ระบบจัดการของโรงแรมแต่จะดีกว่าไหมที่ตัดต้นตอของปัญหาไปแต่แรกด้วยการ "เคารพกฏระเบียบการเข้าพัก" ตั้งแต่แรก
เห็นหลายๆ ที่มักอ้างกันทำนองแขกกันว่า "ใครยอมและให้แขกได้มากกว่านั่นคือบริการที่เหนือความคาดหมายที่แขกประทับใจ" เช่น เคสนี้ที่แขกชอบโรงแรมใหม่ที่ไปเพราะได้ LCO ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่รู้จะมีกฏระเบียบไว้ให้ควบคุมการอยู่ร่วมกันเพื่อรักษาสิทธิของแขกคนอื่นทำไมเพราะการออกมาป่าวประกาศว่า "เธอให้สิทธินั้นไม่ได้แต่ชั้นให้ได้ชั้นดีกว่าเธอนะ" มันเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจหรือ?? ในเมื่อคุณกำลังสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้คนข้างหลังต้อง "ทิ้งกฏระเบียบเพื่อมาตามใจแขกแข่งกับคุณ" ทำไมไม่คิดอีกมุมว่าเราสามารถบริการแขกได้ภายใต้กฏระเบียบและการอยู่ร่วมกันของแขกผู้เข้าพัก "ทุกคน" ไม่ใช่บางคน
เฮียไม่เถียงว่าการยอมแขกในบางครั้งคือการบริการที่ดีและเราก็ทำกันแต่ค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับการสปอยแขกแล้วเอาเป็นความภาคภูมิใจว่า "เราให้บริการที่เหนือความคาดหมายให้แขกประทับใจ" โดยการตามใจแขกทุกสถานการณ์ซึ่งเราไม่ได้เรื่องมากใดๆ เพราะก็เข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบันที่โรงแรมต้องดิ้นรนหาแขกอย่างยากเย็นเช่นทุกวันนี้
แล้วพวกเราคิดกันยังไงบ้างมาแลกเปลี่ยนกัน.........?????

วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

เรื่องเล่าจากทางบ้านตอน ชีวิตต้องสู้

เรื่องเล่าจากทางบ้านตอน ชีวิตต้องสู้
จากคลิปเมื่อวานที่เราคุยกันเรื่องของคำถามที่ว่า "ไม่จบสายโรงแรมมาจะทำงานโรงแรมได้ไหม?" กับ "ทำงานโรงแรมแผนกหนึ่งแล้วจะย้ายไปอีกแผนกหนึ่งได้ไหม?" วันนี้เฮียมีเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงของสมาชิกเพจเรามาเล่าให้ฟังครับว่าก่อนที่เขาจะมาทำงานโรงแรมเขาผ่านอะไรมาบ้างซึ่งบอกเลยว่าบางงานไม่ได้เกี่ยวอะไรกับโรงแรมเลย
....................................................................................


ประสพการณ์ส่วนตัวของผม ที่ได้เข้ามาทำงานเกี่ยวกับการโรงแรม
1. เป็นเด็กติดรถส่งน้ำแข็ง8เดือน
-ไปส่งน้ำแข็งให้ร้าน7/11อยู่เป็นประจำ เห็นพนักงานเซเว่นคิดเงิน ขายของให้ลูกค้า อยู่ในห้องแอร์ ก็เลยอยากทำงานเซเว่น เพราะเป็นคนที่ชอบใช้ความคิดทำงาน มากกว่าใช้แรงงาน ในตอนนั้นก็ยอมรับตรงๆว่าทำงานส่งน้ำแข็งเพื่อขั้นเวลา ในการคว้าโอกาส มองหางานใหม่ๆที่ตรงกับความถนัด
2. มาทำงานเป็นพนักงานเซเว่น1ปี ด้วยบูญเก่าที่เคยทำงานส่งของให้ร้านเซเว่นมาก่อน จึงทำให้รู้จัก ผจก. แต่ละร้าน เลยสมัครเข้ามาไม่ยากและได้ลงในสาขาพื้นที่ที่ต้องการ
ทำเซเว่นไปได้ 2 เดือน ก็เข้าใจระบบการทำงาน ว่ามันไม่ได้ยากอย่างที่คิด แต่มันก็ไม่ได้สบายอย่างที่คิดเช่นกัน ทำได้เกือบ 1 ปี ก็เริ่มหมดpasssion ด้วยร้างกายที่เหนื่อยล้า และการทำงานที่จำเจ ไม่ค่อยมีความท้าทาย การให้บริการลูกค้า ก็เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ และเป็นแพทเทิ้ลเดิมๆ เซเว่นสาขาที่ทำ ณ ตอนนั้น ได้เช้าพื้นที่ชั้น1ของโรงแรม เลยทำให้ได้ครูพักลักจำ การทำงานของ Bell boy ได้เรียนรู้วิธีการบริการ ได้เห็นรายได้ค่าตอบแทนที่เขาได้รับ(ทิบ) ก็เกิดแรงจูงใจที่อยากจะลองกระโดดเข้ามาทำในสายงานโรงแรม
3. เข้ามาทำงานโรงแรม จนถึงตอนนี้ก็ยังทำอยู่ 5 ปีกว่าๆ ครบ 6 ปี วันที่ 31ตุลาคม 2563. โรงแรมแห่งแรกเกือบ 1 ปี เป็นโรงแรมขนาดเล็ก เข้ามาเป็น Bell boy คอยบริการ ช่วยลูกค้ายกกระเป๋าได้เรียนรู้งานด้านบริการมากมาย และได้ทำให้รู้ใจตัวเองว่า เราขอบงานบริการแนวนี้ มันไม่ใช้งานบริการแบบงานเซเว่น ที่บริการลุกค้าในระยะเวลาสั้นๆ และเป็นแพทเทิ้ลเดิมๆ ที่ลูกค้าไม่ได้สนใจบริการของเราที่นำเสนอออกไป เขาแค่อยากซื้อของแล้วก็ไปงานบริการลูกค้าของโรงแรม เป็นการให้บริการตลอดเวลาที่ลูกค้า จ่ายเงินซื้อเวลาเพื่อมาใช้บริการสินค้าของเรา มันไม่มีแพทเทิ้ล มันอินฟินิตี้ มันมีความหลากหลาย และมีความท้าทายที่ไม่เหมือนกันในแต่ละเคส เมื่อผมรู้ใจตัวเอง ว่านี้แหละ คืองานที่ผมถนัดเป็นงานที่ผมทำแล้วมีความสุขผมจึงเริ่มตระเวนเขียนใบสมัครอีกครั้ง และครั้งนี้เป้าหมายผมคือโรงแรมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
3.2 เข้ามาทำโรงแรมแห่งที่ 2 เป็นเวลา 4ปี ครั้งนี้ผมได้เข้ามาทำงานโรงแรมที่อยู่ใจกลางเมือง เป็นโรงแรมขนาดใหญ่ มีชื่อเสียงติด Top 5 ของจังหวัดสุราษฏร์ธานี ณ ที่แห่งนี้ ผมได้ประสพการณการทำงานที่หลากหลายมาก ผมได้วิชาการทำห้อง ปู ปัด กวาด เช็ด ถู จากการสอนของคุณน้า คูณป้าแม่บ้าน ด้ความรู้งานช่างจากข่างประจำโรงแรม ตั้งแต่การแก้ไขช่องทีวี ซ่อมเครื่องทำน้ำอุ่น ซ่อมระบบประปาเปลี่ยนก็อกน้ำ สายฉีดตูด ซ่อมแอร์ ดูแลระบบไฟ ระบบกลอนประตูหน้าต่าง ระบบคีย์การ์ด เพราะหลังจาก5โมงเย็น แม่บ้านกับช่างเลิกงาน ผมจะต้องทำหน้าทีแทนแม่บ้านและช่างเพราะที่นี่ห้องเต็มเกือบทุกวัน อุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องจึงเสื่อมสภาพใว และ bell boy จะต้องซ่ิมและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้ เพราะห้องสำรองบางวันแทบไม่มีเพราะลูกค้าล้นและถ้าเกิดมีลูกค้าc/o จะต้องรีบไปทำห้องทันทีเพื่อรีบส่งห้องให้frontเปิดขายงานที่นี่หนัก มีแรงกดดันสูง ขอบเขตหน้าที่ ความรับผิดชอบเยอะ แต่ด้วยความถนัด จึงทำให้ผมสนุกไปกับการทำงาน ประกอบกับมีแรงจูงใจที่ได้ค่าตอบแทนที่สูง สวัสดิการล้นเหลือจนใช้ไม่ใหวจนวันนึงมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตเมื่อผมต้องมีปัญหาส่วนตัวกับบุคคลากรที่ทำงานในองค์การณ์เดียวกันจนเกิดความลำบากใจในการทำงาน เป็นทุกข์กับปัญหานั้นจนไม่ได้โฟกัสกับการทำงาน เมื่อการทำงานดรอบล ความสนุกในการทำงานไม่มี ผมจึงตัดสินใจ ยุติบทบาทbell boy และงานบริการที่ผมรักลงในปีที่ 5
ผมพักกายพักใจ พักสมอง ปล่อยว่างอยู่หบายเดือนและเริ่มตั้งเป้าหมายอีกครั้งครั้งนี้ผมตระเวนเขียนใบสมัคร เป้าหมายคือผมต้องเป็นหน้า front เพราะมันคือสายงานที่ผมทำงานไกล้ชิดกับ front มาตลอดแต่ไม่เคยได้เรียนรู้ระบบการทำงาในส่วนของfrontเลยสักครั้ง และผมก็ได้รับโอกาสนั้นเมื่อเร็วๆนี้มี ceo ท่านนึงได้มอบโอกาสให้ผม ให้โอกาสเด็กจบ ม.6 ได้เข้ามาเรียนรู้หาประสบการณ์
4.ได้มาทำงานหน้า front 1เดือนมันทำให้ผมได้รู้ว่ายังมีอีกหลายสิ่งที่ท้ายทายให้ตัวผมอยากเรียนรู้ ความสนุกในการทำงานสายงานนี้ของผมกลับมาอีกครั้ง ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาจนถึง ณ ตอนนี้ ผมคงแชร์และบอกต่อได้เพียงเท่านี้
ผมอยากจะช่วยยืนยันอีกเสียงว่า ถ้ามีโอกาสและเราเปิดรับ มันก็มีโอกาสเป็นไปได้โอกาสของผม ได้มาด้วยการไคว่คว้า ผมตระเวนสมัครราวๆ 7แห่ง สอบสัมภาสษณ์แข่งกับคนจบ ป.ตรี จบใหม่ตั้งหลายคนโปรไฟล์ผมใน resume ผมแพ้ทุกคนอย่างขาดลอย เรียนจบไม่สูง จบแค่ม.6 สายศิลป์ทั่วไป เกรดเฉลี่ย 1.91 ต่ำเตี้ยเรี้ยดินแต่ในการสอบสัมภาสผมสามารถตอบคำถามหลายๆอย่างได้อย่างมั่นใจสามารถตอบคำถาม การแก้ปัญหา ที่ผู้สัมภาสยกตัวอย่างสถานการณ์มาเป็นโจทย์ ให้คิดตัดสินใจแก้ปัญหา ด้วยวิธีที่เหมาะสมกับปัญหาและสถานการณ์ได้
เพราะผมไม่เคยเกี่ยงงาน เกี่ยงหน้าที่
การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มันคือกำไรของชีวิต
ผมไม่เคยเกี่ยงงานช่างว่าเหนื่อยหรือสกปรก
ผมไม่เคยเกี่ยงงานแม่บ้านว่าจุกจิกหรือขยะแขยงห้องสกปรกคราบน้ำคัดหลั่งในถุงขยะมีถุงยางใช้แล้วผมก็ไม่เกี่ยงที่จะทำมันจงทำงานที่เราทำแล้วมีความสุข อล้วเราจะสนุกและพร้อมเรียนรู้ทุกสิ่งเกี่ยวกับมัน
Credit: Watcharin BugTorque
แล้วพวกเอ็งคนอื่นๆ ล่ะมีเรื่องตัวเองอยากจะเล่าบ้างไหมว่าได้โอกาสเข้ามายังไงและทำไมถึงรักงานโรงแรม???

บทความแนะนำ