อีกหนึ่งความท้าทายในสายอาชีพการโรงแรม
ยอมรับตรงๆ ว่าส่วนตัวไม่เคยคิดว่าชีวิตการทำงานในวงการโรงแรมของตัวเองจะต้องมาเจอกับวิกฤติที่สะเทือนไปทั้งโลกขนาดนี้มาก่อนนับตั้งแต่วันแรกที่โรคไวรัสปอดอักเสบได้ถูกเปลี่ยนขื่อเป็น COVID-19 และถูกประกาศให้เป็นโรคแพร่ระบาด (Pendamic) จากองค์การอนามัยโลกนับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโรงแรมของโรคระบาดนี้มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
จากหนึ่งเดือนเป็นสองเดือน สามเดือน สี่เดือนและ ณ ขณะนี้เป็นเวลากว่าครึ่งปีแล้วสถานการณ์ในประเทศไทยและบางประเทศทั่วโลกค่อยๆ ดีขึ้นตรงข้ามกับบางประเทศที่แย่กว่าเดิมแต่สำหรับอุตสาหกรรมโรงแรมยังคงมีทีท่าว่า “ไม่น่าจะฟื้นตัว” ในระยะเวลาอันใกล้นี้ต่อไป
ในฐานะมนุษย์ปุถุชนธรรมดาแม้จะรักในอุตสาหกรรมในธุรกิจนี้แค่ไหนแต่คนเราเมื่อเข้าใกล้คำว่า “ไม่มีจะกิน” การมองหาสิ่งใหม่ที่ดูจะเป็นทางออกเพื่อปากท้องที่ดีกว่าย่อมเกิดขึ้นได้บางคนยังสามารถอดทนต่อสู้ฟันฝ่าเพื่อรอวันกลับมาสดใสอีกครั้งของอุตสาหกรรมโรงแรมแต่บางคนด้วยต้นทุนที่จำกัดทำให้ไม่สามารถรอได้นานขนาดนั้น
ประเด็นที่สำคัญที่เราต้องถามตัวเองก่อนตัดสินใจซึ่งเป็นจุดที่ยากลำบากคือ “มันถึงเวลาของเราหรือยัง?” บางคนสามารถตัดสินใจได้ง่ายว่าจะออกไปในเร็วๆ นี้ด้วยเหตุผลด้านปัญหาในงานและความคิดที่รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบจนเกินกว่าความเป็นจริงจากนายจ้าง เช่น ให้มาทำงานแต่ไปรับเงินกับประกันสังคม หรือ บีบให้สมัครใจลาออก เป็นต้น แต่บางคนที่ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่าทั้งได้รับการดูแลที่ดีจากนายจ้างแต่เมื่อมองอนาคตแล้วรู้สึกว่าว่าสถานการณ์ดีๆ แบบนี้ไม่น่าจะอยู่อีกนานครั้นจะลาออกมาก็ยังรู้สึกลังเล
สุดท้ายการท่องเที่ยวยังไงก็ยังคงอยู่คู่กับมนุษย์ต่อไปแต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ “การเปลี่ยนไปของ supply chain” ต่างๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ต้องปรับให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคไปเรื่อยๆ ไม่แน่ว่าอนาคตเราอาจไม่ได้เห็นการแบ่งระดับโรงแรมและให้ความสำคัญกับดาวอีกต่อไปหรือเราอาจจะได้เห็นรูปแบบการให้บริการใหม่ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งงานมากเท่าระบบโรงแรมในปัจจุบันนี้ก็ได้แต่วันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่คงไม่มีใครบอกเราได้เพราะ “อนาคตคือสิ่งไม่แน่นอน”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น