วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

 เมื่อ Social Sanction ส่วนบุคคล มีผลต่อชีวิตนอกเวลางาน


จากรณีศึกษาเกี่ยวกับพนักงานโรงแรมคนหนึ่งได้กระทำกิริยาไม่เหมาะสมต่อผู้หญิงจนถึงขั้นแจ้งความดำเนินคดีกันไป ถ้าพูดกันตามความเป็นจริงแล้วนี่เป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรกระทำอย่างยิ่งแต่ก็ไม่รู้ว่า ณ เวลานั้นเขาคิดอะไรถึงได้ทำการแบบนั้นลงไป? แน่นอนว่าหลังจากที่ได้เกิดกระแสสังคมต่อการกระทำที่ไม่เหมาะสมนี้ขึ้นซึ่งแม้ว่าจะเป็นการกระทำนอกเวลางานซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในโรงแรมและเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นกลายเป็นวิกฤตชีวิตของพนักงานคนนี้ไปทันที เนื่องจากกระแสสังคมได้ตัดสินและลงโทษเขาไปเรียบร้อยแล้วจาก Comment มากมายในโลก Social ต่อพฤติกรรมของเขาที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนจาก Clip ที่ได้รับการเผยแพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว กระแสความไม่พอใจ การด่าทอ เกิดขึ้นอย่างมากมายและจุดหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดการคือในช่วงเวลาต่อมา Social Sanction ที่เกิดขึ้นกับเขามันลามไปยังองค์กรที่เป็นต้นสังกัดอย่างโรงแรมของพนักงานคนนี้ มีการเข้าไป Comment ต่างๆ นาๆ ใน Official Page ของโรงแรมแห่งแรกที่ชาวเน็ตคาดการณ์ว่าเป็นที่ทำงานของเขาจนโรงแรมต้องรีบออกมาชี้แจงว่าพนักงานท่านนี้ได้ลาออกจากการทำงานจากที่นี่ไปแล้วและไม่ได้เป็นพนักงานของที่นี่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าแม้จะมีการชี้แจงก็จริงแต่กระแสที่หลั่งไหลเข้าไปใน Comment ที่เราคุ้นชื่อกันดีว่า “ทัวร์ลง” ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของโรงแรมนั้นอยู่พอสมควร
เมื่อโรงแรมแรกปฏิเสธความเป็นต้นสังกัดของเขาไปแล้วการดำเนินการ “ขุด” หาต้นสังกัดปัจจุบันจึงเกิดขึ้นและด้วยธรรมชาติของชาว Netizen ไทยถ้าจะสืบอะไรย่อมไม่แพ้ชาติใดในโลกหวยเลยมาออกเข้าสู่โรงแรมที่สองซึ่งเป็นต้นสังกัดปัจจุบันซึ่งเมื่อรู้ต้นสังกัดของพนักงานคนนี้กระแสสังคมจึงไหลมาที่โรงแรมต้นสังกัดในเชิงกดดันถึง “การลงโทษต่อความผิดครั้งนี้ของพนักงานของโรงแรม” ซึ่ง Comment ส่วนใหญ่เป็นไปในทาง Negative มีการเชื่อมโยงไปถึงตัวของโรงแรมในด้านมาตรฐานการฝึกอบรมพนักงานและข้อสังเกตต่างๆ จนเกิดเป็น Social Media Crisis ขึ้นกับตัวโรงแรมและสุดท้ายโรงแรมจึงต้องออกมาประกาศเลิกจ้างพนักงานคนดังกล่าวในที่สุด ภายใตัเหตุผลในการเลิกจ้างเกี่ยวกับความผิดที่พนักงานคนนี้ได้กระทำซึ่งส่งผลให้โรงแรมได้รับผลกระทบไปด้วย
ในส่วนตัวของผู้ก่อเหตุนี่จะเป็นบทเรียนราคาแพงในการดำเนินชีวิตของเขาให้ได้จดจำและไม่กระทำการแบบนี้อีกเพราะ “ราคาที่ต้องจ่าย”​ จากเหตุการณ์ครั้งนี้มันน่าจะสูงเกิดกว่าที่เขาคาดไว้ ทั้งกระแสสังคมที่ไม่พอใจ การเป็นคดีความ ตกงานขาดรายได้ ไหนจะปัญหาสภาพจิตใจ อีก ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบเพียงเท่านั้นเอง หากวันนั้นเขาเลือกที่จะไม่ทำแบบนั้น ณ วันนี้เชื่อว่าเขาก็ยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติเช่นเคย
วิเคราะห์เหตุการณ์จากกรณีศึกษานี้: เราคงไม่พูดถึงการตัดสินและผลของการกระทำผิดของพนักงานคนนี้เพราะเชื่อว่าเขาน่าจะได้รับไปแล้วจากอารมณ์ชั่ววูบของเขาและเขาควรจะต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดราคาแพงในสิ่งที่เขาไม่ควรทำนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่ควรจะนำมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อหาทางป้องกันปัญหานี้คือ
ประเด็นแรก: ความรุนแรงของ Social Sanction คงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าในปัจจุบันสื่อ Social Media มีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจและการใช้ชีวิตของพวกเรา โรงแรมอาจจำเป็นต้องบรรจุกรณีนี้เข้าไปในการจัดทำแผน Worse Case Scenarion ว่า “หากโรงแรมต้องได้รับผลกระทบจากมาตรการ Social Sanction ที่เกิดกับโรงแรมเองหรือการกระทำบุคคลากรของโรงแรมทั้งในและนอกเวลางาน กรณีนี้จะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร?” เพราะอย่างที่รู้ว่าขอบเขตความไม่พอใจของมาตรการ Social Sanction นั้นมันสามารถลุกลามได้เป็นวงกว้างในระยะเวลาอันรวดเร็วและส่งผลต่อภาพลักษณ์ของโรงแรมในโลกออนไลน์ได้ แน่นอนว่าในเวลางานพนักงานมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายและไม่ทำให้โรงแรมเสียหาย แต่นอกเวลางานนั้นถือเป็นเวลาส่วนตัวการกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นโรงแรม ควรหรือไม่ควร ต้องรับผิดชอบร่วมด้วย? ขอบเขตการรับผิดชอบอยู่แค่ไหน? และมันควรส่งผลต่อหน้าที่การงานหรือไม่? เพื่อความชัดเจนและเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินใจของโรงแรม อีกประเด็นหนึ่งคือถ้าพนักงานต้องรับผิดชอบแม้จะนอกเหนือเวลางานก็ตาม “นั่นถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในเวลาส่วนตัวของพนักงานหรือไม่? ในการต้องรักษาผลประโยชน์ของโรงแรมตลอดเวลาแม้จะนอกเวลาทำงานก็ตาม?” นี่คือสิ่งที่ต้องวางแผนบริหารจัดการกันต่อไปเพื่อให้ได้ทางออกที่สมเหตุสมผลทั้งสองฝ่ายทั้งโรงแรมและพนักงาน การรักษาความสมดุลในการบริหารจัดการเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยเช่นกัน
ประเด็นที่สอง: เป็นสิ่งที่เริ่มมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการเลิกจ้างพนักงานคนนี้ของโรงแรมว่า “เป็นการทำเกินกว่าเหตุหรือไม่?” สาเหตุที่เกิดข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นนี้เนื่องจาก สิ่งที่พนักงานคนนี้ทำถือว่าเป็นการกระทำส่วนตัวโรงแรมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและที่สำคัญ “มันเป็นการกระทำที่อยู่นอกเหนือเวลาการทำงาน” การเลิกจ้างพนักงานคนนี้จะถือว่าโรงแรมทำเกินกว่าเหตุหรือเป็นการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมหรือเปล่า? ตรงนี้คือสิ่งที่ฝ่ายที่ตั้งข้อสังเกตและหาเหตุผลเกี่ยวกับการเลิกจ้างครั้งนี้ว่าไม่เป็นธรรมยกมาเป็นประเด็น แต่ในขณะเดียวกันหากมองในมุมของนายจ้างกรณีนี้เป็นไปได้ว่าการที่โรงแรมเลือกตัดสินใจเลิกจ้างนี้ โรงแรมก็น่าจะเช็คในข้อกฎหมายแรงงานมาแล้วเป็นอย่างดีเพราะคงไม่มีใครชอบที่จะไปขึ้นศาลแรงงานดังนั้นการตัดสินใจจึงน่าจะกลั่นกรองมาแล้วว่า “อยู่ในขอบเขตที่ทำได้ไม่ผิดกฎหมาย” สาเหตุของการเลิกจ้างที่โรงแรมอาจมองว่าเป็นเหตุเป็นผลคงเป็นเรื่องของ “การทำให้โรงแรมเสื่อมเสียชื่อเสียงซึ่งนับเป็นการสร้างความเสียหายให้กับนายจ้างอย่างหนึ่ง” ซึ่งเอาจริงๆ แม้จะไม่ได้เป็น “ความผิดพลาดจากการปฏิบัติงานก็จริงแต่การกระทำที่นำมาซึ่ง Social Sanction ที่ไม่พอใจพนักงานแล้วพากันมาลงที่โรงแรมตรงนี้น่าจะเป็นเหตุผลที่ตัดสินใจเลิกจ้างในที่สุด” ณ ตอนนี้เลยกลายเป็นอีกกรณีศึกษาหนึ่งที่สำคัญของโรงแรมและอาจจะธุรกิจอื่นๆ ว่า “ถ้าเกิดกรณีพนักงานที่อยู่นอกเวลางานแต่กระทำผิดจนทำให้โรงแรมเสื่อมเสียชื่อเสียง กรณีนี้ถือว่าสามารถทำการเลิกจ้างโดยไม่ผิดกฎหมายแรงงานได้หรือไม่? เพราะไม่ได้เป็นการกระทำในระหว่างปฏิบัติงานและถือเป็นเรื่องส่วนตัวของพนักงานที่ต้องรับผิดชอบ”
เชื่อว่านี่คงจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่โรงแรมต้องปรับตัวเพราะการเล่นกับกระแสสังคมถือเป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการอย่างระมัดระวังโดยเฉพาะเมื่อมีชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของโรงแรมมาเป็นเดิมพัน ในหลายๆ ครั้งเรามักจะเห็นกันอยู่ว่า Social Sanction มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านบวกคือถ้าเป็นกระแสสังคมที่กดดันให้สังคมดีขึ้นบนพื้นฐานของความเป็นจริงอันนี้ก็ดีไป แต่ถ้าเป็นสิ่งที่กลับกันอันนี้คือโจทย์ตัวใหญ่ที่เราต้องหาทางรับมือด้วยเช่นกัน
เคสนี้น่าสนใจว่า “ถ้าพนักงานคนนี้ก่อเหตุกระทำความผิดแบบนี้แต่โรงแรมไม่ได้รับผลกระทบหรือที่เราเรียกกันเล่นๆ ว่า “ทัวร์ลง” ไปที่เพจของโรงแรม ไม่มี Social Sanction พนักงานคนนี้ไปกดดันโรงแรมเพียงแต่ลงไปเฉพาะตัวคนที่กระทำความผิดเพียงอย่างเดียว โรงแรมจะแก้ไขปัญหาและจัดการอย่างไร?
ในมุมของพนักงาน ณ ตอนนี้ก็คงต้องระมัดระวังตัวกันมากขึ้นในการปฏิบัติตัวแม้จะอยู่นอกเวลางานว่าต้องไม่ส่งผลทำให้เกิดความเสียหายกับชื่อเสียงของโรงแรมและในมุมของโรงแรมก็ต้องกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลในเวลาส่วนตัวของพนักงานด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจจะกลายมาเป็นอีกรายละเอียดหนึ่งในการเซ็นสัญญาจ้างงานในอนาคตก็ได้ นอกจากนี้ในส่วนของโรงแรมก็ต้องวางแผนการล่วงหน้าในการแก้ไขกรณีโรงแรมได้รับผลกระทบจากการกระทำของบุคคลากรนอกเวลางานด้วยเช่นกันเพราะไม่มีทางรู้ว่าเมื่อไหร่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับตัวเอง
ส่วนตัวเฮียอยากชวนมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันครับว่ากรณีนี้เรามองยังไงกันบ้าง? เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะและหาแนวทางป้องกันเคสในลักษณะนี้กันครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความแนะนำ