วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2564

เปิดประเทศแล้วโรงแรมเอายังไงต่อ?

 เปิดประเทศแล้วโรงแรมเอายังไงต่อ?

ทันทีที่นายกฯ ประกาศเตรียมพร้อมเปิดประเทศซี่งมีสาระสำคัญที่ภาคการโรงแรมและการท่องเที่ยวให้ความสนใจเป็นอย่างมากคือใจความของประกาศที่ว่า “ให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามที่กำหนดไว้เดินทางเข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัว” ซึ่งหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงระหว่างส่วนกลางในการบริหารประเทศกับส่วนท้องถิ่นที่จะได้รับผลกระทั้งเชิงบวกและเชิงลบการเปิดประเทศตามที่กำหนดไว้ในวันที่ 1 พ.ย. 2564 คงจะเดินหน้าต่อไปตามกำหนดแน่นอนว่าการที่นักท่องเที่ยวจะมีอิสระในการเดินทางไปได้ทุกที่ทั่วประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัวหากได้รับวัคซีนครบตามจำนวนที่กำหนดย่อมเป็นผลดีแต่สำหรับในอุตสาหกรรมโรงแรมของเราความบอบช้ำจากวิกฤต COVID-19 เกือบสองปีที่ผ่านมานั้นทำให้เราต้องปรับตัวปรับกลยุทธ์ต่างกันเรียกได้ว่าแทบจะวันเว้นวันเพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปตลอดซึ่งเมื่อเราจะเริ่มต้นเปิดประเทศ (ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง) กันในเดือนหน้าพฤศจิกายนนี้มีสถานการณ์อะไรบ้างที่อาจเกิดขึ้นและเราเองในฐานะผู้ประกอบการโรงแรมและพนักงานโรงแรมจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือไว้





  1. มาตรฐานด้านสุขอนามัย (Hygiene Standard) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคัดกรองแขกผู้เข้าพักและพนักงานหรือการปฎิบัติตามข้อบังคับของสาธารณะสุขยังคงเป็นเรื่องแรกที่เราต้องให้ความสำคัญเพราะต้องยอมรับว่าวิธีการบางอย่างในปัจจุบันมันก็ไม่สามารถใช้คัดกรองแขกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิที่เอาจริงๆ ทุกวันนี้การเดินแล้วแปะมือในเครื่องวัดยังไม่สามารถบอกเราได้อย่างชัดเจนถึงอัตราความสำเร็จในการคัดกรองผู้ที่มีภาวะเสี่ยงจะติดเชื้อได้อีกต่อไปเพราะเชื้อตัวใหม่ๆ บางครั้งอุณหภูมิร่างกายก็ไม่สามารถตรวจพบได้เหมือนเดิม ดังนั้นเราอาจได้เห็นการ Upgrade มาตรฐานด้านสุขอนามัยที่ออกมาอย่าง SHA SHA+ หรือแม้แต่มาตรฐานด้านสุขอนามัยอื่นๆ ของแต่ละแบรนด์ เช่น Avani Shield, Centara Complete Care, IHG clean promise ฯลฯ ที่อาจจะต้องมีการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น อาจจะต้องเริ่มต้นมาตรฐานการตรวยสอบตั้งแต่ขั้นตอนในการตรวจ Vaccine Passport หรือ ข้อมูลใน App หมอพร้อมของแขกผู้เข้าพักทั้งชาวไทยและชาติต่างชาติ ว่ามีการฉีดวัคซีนครบตามที่กำหนดหรือยังฯ วัคซีนเป็นชนิดที่ อย.และสาธารณะสุขรองรับให้ใช้ได้ในไทยแล้วหรือไม่ฯ เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนต่างๆ เหล่านั้นก็จะมาสัมพันธ์การเรื่องของการ Training พนักงานในการตรวจสอบด้วยเช่นกัน


  1. บุคคลากร (Staff) ปัจจัยแรกที่สำคัญของอุตสาหกรรมบริการที่ดำเนินกิจการภายใต้ความ “คาดหวังและอารมณ์” ของมนุษย์ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่ใช้ Human Touch เป็นตัวสร้างความประทับใจ ความจดจำ การบอกต่อ รวมการวัดผล KPI ด้าน Customer Experience ซึ่งสิ่งที่เปลี่ยนไปหลังจากเจอวิกฤต COVID-19 แม้บางคนจะมองว่า “ไม่น่ายากในการหาบุคคลากรโรงแรมที่ว่างงานอยู่มาก” ให้กลับเข้ามาทำงานโรงแรมเพื่อเตรียมตัวรับมือกับการเปิดประเทศแต่ในอีกมุมหนึ่งแม้จะมีคนที่ยังว่างงานอยู่จำนวนมากแต่เราต้องแบ่งคนเหล่านี้ออกเป็นสองแบบคือ “คนที่ออกมาแล้วยังมีความคิดที่จะกลับเข้าไปทำงานโรงแรมใหม่อีกครั้ง” กับอีกกรณีหนึ่งคือ “คนที่ออกมาแล้วเจอทางใหม่ที่ดีกว่าหรือชอบมากกว่าจนตัดสินใจว่าจะไม่กลับไปทำงานโรงแรมอีก” นั่นอาจทำให้ปริมาณบุคลากรที่ว่างงานในอุตสาหกรรมที่น่าจะดูเหมือนยังมีจำนวนมากแต่อันที่จริงจำนวนคนที่พร้อมทำงานและกลับมาในอุตสาหกรรมนั้นมันมีจำนวนที่แท้จริงนั้นมีจำนวนมากเท่าไหร่? เพียงพอกับ Supply ที่เหลืออยู่ในตลาดหรือเปล่า? จำนวนของบุคคลากรที่พร้อมทำงานอย่างแท้จริงในตลาดที่เหลืออยู่ยังจะส่งผลสอดคล้องกับ Trend การจ้างงานในอนาคตที่เป็นยุคของ “แรงงานทักษะสูง” ที่จะเป็นที่ต้องการของตลาดพร้อมกับการที่ผู้ประกอบการจะยอมจ่ายในอัตราสูงแลกกับทักษะที่หลากหลายจนอาจจะเกิดปรากฎการ “แย่งแรงงานทักษะสูง” ขึ้นในอุตสาหกรรมโรงแรมทำให้แรงงานกลุ่มนี้ขาดตลาดก็เป็นได้ เพราะต้องยอมรับว่าตัวแปรหนึ่งที่จะเข้ามาส่งผลกับ Trend นี้คือเรื่องของ


  1. เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมบริการ (Hospitality Technology) ในส่วนของโรงแรมเราเองนั้นมีการเริ่มนำระบบใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการรวมถึงลดต้นทุนการดำเนินงานในประเภทงานที่ซ้ำซ้อนออกไปเพื่อให้พนักงานนำเวลาที่จะต้องเสียไปกับงานเหล่านั้นมาให้บริการแขกได้อย่างใกล้ชิดมากกว่านี่จึงเป็นที่มาของความต้องการแรงงานที่สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านั้นได้ โดยเฉพาะเรื่องของ Digital Skills ซึ่งถ้าเรามองกันตามความเป็นจริงแม้จะดูเป็นเรื่องโหดร้ายสำหรับแรงงานแต่มันคือธรรมชาติของธุรกิจที่ต้องมีการปรับตัวไปเรื่อยและแรงงานเองก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน หากเกิดกรณีที่เรามองว่า “ยังมีแรงงานในอุตสาหรกรมโรงแรมว่างงานและหางานอีกเยอะ” เราก็ต้องมองอีกมุมหนึ่งว่าปริมาณแรงงานเหล่านั้น “เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมโรงแรมในปัจจุบันซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนไปแล้วมากน้อยแค่ไหน?” และต้องคิดต่อไปในมุมที่ว่า “หากจำนวนแรงงานซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้ว่างงานที่กำลังหางาน ณ ขณะนั้นมีจำนวนไม่พอต่อความต้องการของตลาด” ภาพของการแก้ไขปัญหาตรงจุดนี้เราจะวางแผนรับมืออย่างไร? นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าคิดหาทางรับมือเอาไว้เช่นกัน


  1. ความไม่แน่นอนจากนโยบายสาธารณะ (Uncertainty Public Policy) ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้จากการออกนโยบายโดยหน่วยงานราชการเพื่อบริหารสถานการณ์ที่สอดคล้องกับแต่ละช่วงเวลาซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ในส่วนนี้คงเป็นเรื่องของการที่โรงแรมเราคงต้องทำงานสอดประสานและ Update ไปกับประกาศ กฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่อาจออกมาระหว่างทางของการเปิดประเทศซึ่งก็คงไม่มีอะไรมารับประกันได้ว่ามันจะ “ดีหรือกลับไปแพร่ระบาดหนักเหมือนเดิม???” ดังนั้นเครื่องมือที่หลายโรงแรมนำมาใช้ในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมาอย่าง Worse Case Scinario Plaining ยังคงต้องมีการจัดทำอยู่และ Update รายละเอียดอย่างต่อเนื่องเพราะแม้จะเปิดประเทศแต่สถานการณ์ในแต่ละพื้นที่นั้นก็มีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไปอาจจะเกิดสถานการณ์ที่บางพื้นที่ยังคงต้องให้มีการประกาศกักตัวหรือสั่งห้ามเข้าพื้นที่ในสถานการณ์ที่เกิดการแพร่ระบาดกลับมาอีกครั้งหลังเปิดประเทศ


  1. ประเภทของนักท่องเที่ยว (Tourist Market) เกี่ยวข้องกับเรื่องของการขายและการตลาดของโรงแรม ในช่วงหลังมาตรการคลายล็อคที่ผ่านมาตลาดหลักของอุตสาหกรรมโรงแรมคงหนีไม่พ้นนักท่องเที่ยวในประเทศ (Demestic Tourist) เป็นตลาดไทยเที่ยวไทยเป็นหลักซึ่งหลายๆ โรงแรมก็เริ่มการทำการขายและการตลาดให้สอดคล้องและเอื้อกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวไทยมาเป็นพิเศษแต่หลังจากที่ประกาศเปิดประเทศน่าจะเป็นช่วงที่โรงแรมต้องทำการแบ่งสัดส่วนตลาด Domestic และ Oversea ให้สัมพันธ์กันและเป็นไปอย่างระมัดระวังเพราะในบางครั้งหากเกิดกรณีที่เราปรับแผนการขายและการตลาดให้เอื้อไปทาง Oversea เลยเป็นหลักเพราะเล็งเห็นว่าจะเปิดประเทศแล้วจนละเลยการให้ความสำคัญกับการทำตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่ม Domestic ไปเลยอาจทำให้กระทบกับตลาดนักท่องเที่ยว Domestic ของโรงแรมได้ ตัวอย่างเช่นกรณีของการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายที่เน้นไปทาง Domestic ในปัจจุบันหากโรงแรมปรับรูปแบบกิจกรรมการส่งเสริมการขายมาเป็นการเน้นไปทาง Oversea เลยทันทีอาจทำให้นักท่องเที่ยวในประเทศลดความสนใจกับโรงแรมลงเพราะไม่มี Promotion ที่เอื้อต่อพฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทยที่น่าสนใจอีกสาเหตุที่ต้องระมัดระวังเรื่องนี้เพราะเราเองก็อาจจะยังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าถ้าเปลี่ยนการทำตลาดจาก Domestic ไปเป็น Overse รับการเปิดประเทศเลยทันทีสถานการณ์การท่องเที่ยวและตลาดต่างประเทศจะเข้ามาท่องเที่ยวได้มากน้อยแค่ไหน? หรือเราจะต้องเจอสถานการณ์ Lockdown อีกครั้งหรือเปล่า? เพราะหากมันเกิดเหตุการณ์เลวร้ายลักษณะนี้ขึ้นการจะกลับมาทำตลาด Domestic อีกครั้งอาจเป็นเรื่องยากพอสมควร นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการ Balance การทำตลาดและ Forcaste รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งไม่ควร Focus ตลาดนักท่องเที่ยวชาติใดชาติหนึ่งเป็นหลักเพราะสถานการณ์ในประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยวจากชาติต่างๆ ทั่วโลกนั้นหากแม้สามารถกลับมาเดินทางไปท่องเที่ยวนอกประเทศได้เหมือนเดิมแต่ก็ไม่มีอะไรมารับประกันว่าสถานการณ์จะไม่เลวร้ายจนอาจจะเกิดการสั่งปิดประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยวอีกครั้งก็ได้ดังนั้นการทำตลาดควรแบ่งสัดส่วนนักท่องเที่ยวแต่ละชาติให้เหมาะสมกับสภาพของตลาดนักท่องเที่ยวและสถานการณ์การแพร่ระบาดของประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยวนั้นๆ


  1. โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว แม้โครงการเราเที่ยวด้วยกันจะหมดอายุลงในปีหน้าแต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตน่าจะมีโครงการอื่นๆ ออกมาส่งเสริมการท่องเที่ยวและพยายามผลักดันให้อุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยวกลับมาเป็นรายได้หลักของประเทศอีกครั้งอย่างชัดเจน ดังนั้นเราควรนำข้อมูลและวิธีการต่างๆ ที่โรงแรมได้ใช้เพื่อเข้าสู่โครงการที่เป็นมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐมาวางแผนและคาดคะเนโครงการใหม่ที่จะออกมาเพื่อหาทางใช้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐในอนาคตให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด จุดไหนที่โรงแรมทำได้ดีอยู่แล้ว จุดไหนที่โรงแรมต้องปรับปรุง เมื่อทราบถึงสองสิ่งนี้แล้วจะสามารถทำให้เราวางแผนการบริหารจัดการโรมให้สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ในอนาคตอย่างดีที่สุด


ทั้งหมดนี้คือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมโรงแรมหลังการประกาศเปิดประเทศทั้งในด้านของบุคคลากร ปัจจัยแวดล้อมภายในและปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ซึ่งในฐานะผู้ประกอบการและบุคคลากรในอุตสาหกรรมโรงแรมเป็นเรื่องปกติที่ในโลกธุรกิจนั้นองค์กรมักจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอแต่จะเปลี่ยนแบบรุนแรงมากแบบ Radical Change หรือเป็นแบบ Incremental change ก็อยู่ที่สถานการณ์ของ Trend ธุรกิจ ณ ขณะนั้น





Hotel Man - Pop Natthapat


ไม่มีความคิดเห็น:

บทความแนะนำ